
“หมอทหารบก”ระบุหน่วยราชการและองค์กร ที่ใช้รถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ แถมอันตราย เชื้อฟุ้งกระจายเข้าระบบหายใจคนพ่น แนะประชาชนใช้ผงซักฟอก-ไฮเตอร์-ไฮโดรเจน เปิดออกไซด์ เช็ดถูพื้นก็เพียงพอแล้ว
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด -19 โดย พ.ท.นพ.ภพกฤต ภพธรอังกูร กองส่งเสริมสุขภาพและเวชกรรมป้องกันกรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า เชื้อโรคจากของเหลวมีอายุต่างกัน โดยในอากาศที่อุณหภูมิ 10 – 15 องศาเซลเซียส เชื้อสามารถอยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่ถ้าในประเทศที่มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เชื้อจะสามารถอยู่ในอากาศได้นาน 2 – 3 นาที แต่ละอองฝอยเสมหะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เชื้อจะอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง หมายความว่าในที่อุณหภูมิหนาวเย็นเชื้อก็จะยิ่งอยู่ได้นานมากขึ้น โดยจากผลการศึกษาของอาจารย์แพทย์ที่WUHUN Centers for Disease Control and Prevention พบว่าเชื้อที่อยู่ในอุณหภูมิที่ 20 – 30 องศาเซลเซียส จะมีอายุอยู่ได้น้อยกว่า 5 นาที
พ.ท.นพ.ภพกฤต ได้ให้คำแนะนำในการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ว่า เชื้อSARS-CoV-2 (ซาร์โคลวีทู) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ถูกฆ่าเชื้อได้โดยการใช้แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยใช้เวลา 30 วินาทีขึ้นไป ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% , 5% มีเอกสารอ้างอิงว่าความเข้มข้น 0.5% ของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ใช้เวลาประมาณ 1 นาที ส่วนโซเดียมไฮโดรคลอไรด์หรือไฮเตอร์ ความเข้มข้นที่ 0.01% สามารถฆ่าเชื้อได้ภายในเวลา 1 นาที ส่วนระดับความร้อนสูงกว่า 50 องศาเซล
เซียส ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป จึงจะฆ่าเชื้อนี่ได้ ขณะที่แสงแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อSARS-CoV-2 แต่พื้นผิวแสงแดดส่องถึงและสะสมความร้อนจนมีอุณหภูมิที่มากพอก็ฆ่าเชื้อนี้ได้
“กรมอนามัยและกรมควบคุมโรคห้ามไม่ให้ประชาชนใช้วิธีการพ่นสารฆ่าเชื้อ แต่แนะนำให้ประชาชนใช้น้ำยาที่หาได้ในครัวเรือนเช็ดถูพื้นผิวราบ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาฆ่าเชื้อ เดทตอล หรือไฮเตอร์ก็ได้ เนื่องจากถ้าใช้วิธีพ่นในสถานพยาบาล หรือที่มีผู้ป่วยจะทำให้พื้นบริเวณที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยเกิดละอองฝอยจากการละลายเสมหะ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวสัมผัสเกิดการฟุ้งกระจายขึ้นมาได้”
พ.ท.นพ.ภพกฤต กล่าวอีกว่า ขณะที่ปรากฏภาพตาม Facebook ที่มีหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการออกมาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่จะเป็นการพ่นในพื้นที่ที่เช็ดถูหรือทำความสะอาดได้ยาก หริอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ้างเอกชน มาฉีดพ่นน้ำยา ในสถานที่มีคนมาชุมนุมกันแออัด แต่จะต้องไม่ใช่สถานที่ที่พบผู้ป่วยมาก่อนหน้านี้
และที่สำคัญผู้ที่พ่นยาฆ่าเชื้อต้องแต่งกายมิดชิด เพื่อป้องกันสารเคมีและเชื้อที่ก่อโรค อื่นๆ ที่จะฟุ้งขึ้นมา เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนพ่น
“เชื้อโรคที่อยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อม ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถไปพ่นสารเคมีเพื่อทำความสะอาด เป็นเพียงการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน แต่ไม่มีผลต่อการฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยใช่เหตุ” พ.ท.นพ.ภพกฤต กล่าว
ขอบคุณข่าวจาก : แนวหน้า