เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องคุยกันแบบยาวๆ ในกลุ่ม ISUZU CLUB กันเลยครับ พอดีมีสมาชิกซื้อ สายหลอกแอร์โฟร์ มา แล้วไปแกะกล่องที่อยู่กับสาย แกะแล้วด้านในมันไม่อะไรอยู่เลย ก็รู้สึกว่าเหมือนโดนหลอกมาก เพราะเข้าใจว่าในกล่องที่มากับสาย น่าจะมีแผงวงจรอยู่ด้านใน ปรากฏว่า ไม่มีอะไรเลย
จริงๆ แล้ว ก็มีสมาชิกมาอธิบายกันให้ฟังอยู่เยอะครับ ว่ากล่องที่ติดมากับสายนั้น เขาเอาไว้ติดยี่ห้อแค่นั้น แต่… ดูๆ แล้ว มันก็เหมือนกับการทำตัวสายให้ดูดีมีราคามากขึ้น เหมือนมีกล่องนั่นแหละครับ แต่ก็เอาไว้แค่ติดยี่ห้อ เพราะส่วนสำคัญนั้นอยู่ที่ตัวสายครับ
ซึ่งมีสมาชิกมาอธิบายเรื่องสายให้ตามนี้เลย
คนแก่แต่หน้าอ่อน นะจ๊ะ :
แอร์โฟร์ ตัวนี้มีสายทั้งหมด 5 เส้นครับ แยกออกเป็น 2 ชุดด้วยกัน
ชุดที่ 1 มี 2 เส้น (4-5) iat คืออุณภูมิอากาศ
ชุดที่ 2 มี 3 เส้น (1-2-3) วัดค่า maf คือวัดค่ามวลอากาศที่เข้า
คือ หลอกได้ทั้ง 2 ชุดเลยครับ
ส่วนมากเค้าจะใส่ตัว r หลอกค่าว่าเมื่อมีอากาศเข้ามากขึ้น ทำให้กล่องต้องจ่ายน้ำมันมากขึ้นด้วยหรือหลอกค่าว่าอุณภูมิเย็นลง เช่นกันกล่องก็ต้องจ่ายน้ำมันมากขึ้นด้วย เพื่อการเผาใหม้ที่สมบูรณ์
สรุป ก็คือ ไปหลอกกล่องหลักว่ามี อากาศเข้าเยอะขึ้น ทั้งที่อากาศเท่าเดิม ทำให้กล่องสั่งจ่ายน้ำมันเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่าแรงขึ้นด้วย
เจ้าของโพสต์ก็ได้แกะดูสาย ก็เจอตัว R ที่บอกไว้จริงๆ
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่ใช้เฟสชื่อว่า Amontep Soymanee มาอธิบายเรื่องแอร์โฟร์ ไว้ละเอียดเลย อ่านกันครับ
ยังมีหลายๆท่านไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า สายหลอกแอร์โฟลว์นะคับ อยากให้อ่านกันสักนิดคับ
การหลอกแอร์โฟลว์ คือการหลอกค่าอุณหภูมิไอดี (IAT) ให้มีอุณหภูมิที่ต่ำลง จุดประสงค์เพื่อไปหลอกกล่องหลัก ให้กล่องหลักสั่งการปิด EGR 0% เปิดลิ้นปีกผีเสื้อ 100% และสั่งจ่ายน้ำมันให้หนาขึ้นเล็กน้อย ผลที่ได้จากการหลอกแอร์โฟลว์คือทำให้คันเร่งติดเท้ามากขึ้น เวลาเร่งจะแก้อาการคันเร่งหน่วงได้ 20% (จากลิ้นที่เปิดรอไว้แล้ว) และแก้อาการไฟเช็คเครื่องโชว์ในเครื่องยนต์ Euro 4 ที่อุด EGR หรือคันที่มอเตอร์ EGR พัง
ทีนี้การหลอกแอร์โฟลว์ดั้งเดิมคือการใช้ตัวต้านทาน R มาตัดคร่อมที่สายแอร์โฟลว์ 1 คู่ เนื่องจากการส่งสัญญาณของแอร์โฟลว์ ใช้การเล่นค่าความต้านทานในการส่งสัญญาณ การหลอกเช่นนี้คือการไปล็อกค่าความต้านทานให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ซึ่งค่าที่หลอกไปก็จะไปแปลงสัญญาณเป็นอุณหภูมิไอดีที่กล่องหลัก เช่นสมมติ อากาศมีอุณหภูมิ 30°C แอร์โฟลว์วัดอุณหภูมิได้ ก็จะส่งค่าความต้านไป 10k กล่องหลักรับสัญญาณ 10k ก็จะไปแปลงว่า 10k ได้อุณหภูมิที่ 30°C แต่พอจะหลอกแอร์โฟลว์ให้เหลือ 1°C ค่าความต้านทานคือ 0.5k ก็เอา R ค่า 0.5k ไปตัดคร่อมสายเส้นที่วัดอุณหภูมิไอดี พอไฟผ่าน R ก็จะส่งค่า 0.5k เข้าไปยังกล่องหลักตลอดเวลา เซนเซอร์วัดอุณหภูมิแอร์โฟลว์ไม่ใช้ พอกล่องหลักรับสัญญาณ 0.5k ก็เข้าใจว่าอากาศ 1°C ก็สั่งการเครื่องยนต์ให้เป็นไปตามย่อหน้าต้น (ค่าสมมตินะ ไม่ใช่ค่าจริงๆ)
แต่การหลอกแอร์โฟลว์ ผู้จะทำต้องมีความรู้เรื่องสัญญาณความต้านทาน และการ Wiring สายไฟ ซึ่งผู้ที่ไม่มีความรู้มันยาก และบางคนไม่ชอบการที่จะต้องมาตัดสายไฟรถ ไม่อยากให้รถช้ำ ไม่อยากให้หลุดการรับประกันจากบริษัท จึงมีร้านอะไหล่ซิ่งหรืออู่บางแห่ง นำปลั๊กตัวผู้และตัวเมียตรงรุ่น มาต่อสายไฟหากัน และตัดคร่อม R ในสายท่อนนั้น ทำให้ไม่ต้องไปตัดของรถให้รถช้ำ ลูกค้าที่ไม่มีความรู้ สามารถซื้อไป เสียบปลั๊กง่ายๆ (เพราะมันมีปลั๊กเดียว เสียบกลับหัวแบบปลั๊กไฟบ้านไม่ได้ เสียบแล้วเข้าล็อก กริ๊ป!!! คือถูกต้อง ง่ายยิ่งกว่าปอกทุเรียน) และเห็นผลทันทีเลย สายหลอกแอร์โฟลว์สำเร็จรูปจึงกำเนิดขึ้นมา จากนั้นก็มีผู้ค้าทำสายหลอกแอร์โฟลว์มาขายกันมากขึ้น เจ้าของสายหลอกแอร์โฟลว์ก็อยากจะให้สินค้าเป็นที่จดจำ ก็เลยทำเอกลักษณ์ของยี่ห้อตัวเอง เช่น ใส่กล่องครอบสายติดโลโก้แบบในโพสต์ ใส่ท่อหดพิมพ์โลโก้ ฯลฯ เพื่อให้มันเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองขึ้นมา แต่ข้างใน ร้อยทั้งร้อยจะเหมือนกัน
ถ้าทำเป็น หลอกเองเป็น รู้สาย รู้ค่า ตัดเอง คร่อมเอง จบคับ ไม่เกิน 10 บาท แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย ซื้อสายเถอะคับ 600-800 บาท ไม่แพง ถ้ามันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและไม่ทำให้รถช้ำคับ
เรื่องสายแอร์โฟลว์ กับข้อครหาที่หลายๆ คนว่าไว้ ต้นทุนไม่ถึง 100 ขาย 500-1000 บาท หลอกขายเรารึเปล่า ฟันกำไรเรานิ่มๆเลยอะดิ ทั้งสายมีแค่ R ตัวเดียวเป็นหัวใจสำคัญ ตัวละไม่ถึง 10 บาท อะ เราลองสมมติว่าเราจะทำสายแอร์โฟลว์แบบปลั๊กตรงรุ่นใช้เอง ต้นทุนจะไม่เกิน 100 จริงๆหรือไม่ ผมจะลองแจงคร่าวๆให้ดู
ถ้าจะทำสายแอร์โฟลว์ปลั๊กตรงรุ่นเอง ปลั๊กมาคู่ละประมาณ 100 บาท (ราคาส่ง 100 คู่+) ถ้าปลีกน่าจะราวๆคู่ละ 200-250 บาท และไม่ได้ย้ำพินเข้าปลั๊กมาให้ ซึ่งเราต้องมาเข้าปลั๊กเอง ปลั๊กเป็นแบบมียางกันน้ำ ต้องใช้คีมย้ำพินสำหรับย้ำพินมียางกันน้ำ อันละ 700-1000+ (ค่าเครื่องมือนี่แหละ ตัวโคตรไม่คุ้มเลย) สายไฟ เอาแบบเกรดโรงงาน ปลีกน่าจะตกเมตรละ 20-40 บาท อาจจะเอามาสัก 2 เมตร แบ่ง 5 สาย และ R 1 ตัว ตัวละประมาณ 2 บาท อาจจะเพิ่มสายถักหรือท่อหดก็แล้วแต่จะใส่ไป
แค่ซื้อคีมย้ำพินอันนึง เพื่อทำสายแอร์โฟลว์แค่เส้นเดียว ก็แพงกว่าสายหลอกที่ขายกันละ เอาเงินที่จะซื้อคีมย้ำพิน ไปซื้อสายที่เขาทำขายเถอะ
ส่วนพ่อค้าสายแอร์โฟลว์ เขาซื้อคีมย้ำแค่ครั้งเดียว ปลั๊กเขาซื้อราคาส่งใส่ถุงบิ๊กแบ็คมาเป็นร้อยๆคู่ ยางกันน้ำห่อใหญ่ๆ พินมาเป็นม้วนๆ R ซื้อเหมายกกล่องมาเป็นร้อยๆตัว และสายไฟ ท่อหด สายถัก 3 อย่างนี้ซื้อส่งแบบกิโลมาคับ
ต้นทุนบางทีมันไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เราได้มา แต่ไม่มีไม่ได้ (ก็คือเครื่องมือของเขานั่นเอง เช่น คีมย้ำพิน) และต้นทุนที่ถูกของเขา เป็นต้นทุนที่แพงมากสำหรับเรา (เพราะต้องซื้อส่งมาเป็นร้อยๆชิ้น ถ้าเราไม่ได้ทำสายแอร์โฟลว์ขายแล้วเราจะซื้อมาทำไม??) และต้นทุนค่าความคิดเขา ในเรื่องค่า R ที่เหมาะสม และการผลิตชิ้นงานที่ดูดี ไม่เป็นแค่สายไฟง่อยๆ การย้ำพินที่ต้องละเอียด เพื่อให้พินสวยงาม ไม่งั้นพินที่ย้ำก็เละ ไม่สวยงาม และจะทำให้การเชื่อมต่อไม่แน่นหนา
ผมก็ยังยืนยันนะว่าสายแอร์โฟลว์เส้นละ 500-800 บาท ไม่แพง!! แต่ถ้าใครไม่แคร์เรื่องตัดสาย และทำเป็น รู้ค่า R ก็คร่อมเองเลยคับ ต้นทุนราคาเบาๆ 2-10 บาท